ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด มาทำความรู้จักกับเชื้อ HIV ให้มากขึ้น
May 16, 2021ผู้ป่วย HIV สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ จริงหรือไม่
HIV เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่ส่งผลไปถึงโรคเอดส์ (AIDS) ที่เป็นระยะท้ายของการติดเชื้อ HIV จะมีภูมิคุ้มกันต่ำและอาจมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เข้ามาได้ โดยเชื้อ HIV จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า CD4 (ซีดีโฟร์) ที่ส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง เสี่ยงที่จะเกิดเป็นโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ อาทิ ปอดบวม เยื้อหุ้มสมองอักเสบ วัณโรค เป็นต้น รวมไปถึงโรคมะเร็งบางชนิด ซึ่งหากป่วยแล้วก็จะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป และอาจเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตได้
แต่ทั้งนี้ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ที่ยังมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีพอสมควร จะถูกเรียกว่า ‘ผู้ติดเชื้อ HIV’ แต่สำหรับผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำลง จนกระทั่งมีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเจ็บป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ จะเรียกว่า ‘ผู้ป่วยเอดส์’

ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด มาทำความรู้จักกับเชื้อ HIV ให้มากขึ้น
สำหรับเชื้อ HIV จะสามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสเลือด น้ำเหลือง น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด ในส่วนของน้ำลาย เสมหะ หรือน้ำนมจะมีปริมาณเชื้อ HIV ที่น้อย และเหงื่อ ปัสสาวะ หรืออุจจาระ แทบไม่พบเชื้อ HIV เลย โดยเชื้อ HIV จะมีช่องทางการติดต่อที่สำคัญ ดังนี้
- การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน เช่น การไม่สวมถุงยางอนามัย สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับชายหญิง ชายชาย และหญิงหญิง ทั้งผ่านทางช่องคลอดและทวารหนัก โดยมากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อ HIV มักได้รับเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์
- การใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ มักจะพบในกลุ่มของการฉีดยาเสพติดเข้าเส้นเลือด
- การสัมผัสเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้ติดเชื้อ ผ่านแผลเปิดหรือรอยถลอกต่าง ๆ โดยไม่ผ่านการป้องกัน รวมไปถึงการใช้ของร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ ที่ยังไม่ผ่านการทำความสะอาดอย่างเพียงพอ เช่น มีดโกนหนวด กรรไกรตัดเล็บ เข็มเจาะหู ฯลฯ ที่อาจจะมีเลือดของผู้ติดเชื้อติดมาอยู่
- การติดต่อจากแม่สู่ลูก ทั้งในระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอด ไปจนถึงการให้นมลูก
- การรับโลหิตจากผู้บริจาคที่มีเชื้อ HIV ปนเปื้อน ถือว่ามีโอกาสน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากโลหิตที่บริจาคทุกขวดจะต้องผ่านการตรวจสอบหาเชื้อ HIV ทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย

ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด มาทำความรู้จักกับเชื้อ HIV ให้มากขึ้น
ซึ่งหากสงสัยว่าตนเองได้รับเชื้อ HIV ควรจะรีบปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับยาต้านเชื้อ HIV แบบฉุกเฉิน หรือยา PEP(เพ็บ) ภายใน 72 ชั่วโมง หรือหากมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อก็สามารถกินยา PrEP (เพร็บ) ซึ่งเป็นยากินก่อนที่จะรับเชื้อหรือป้องกันเชื้อ HIV ได้นั่นเอง นอกจากนี้ผู้ป่วย HIV อาจมีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นเพื่อความสบายใจ ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อเป็นประจำทุกปี หากพบไวก็จะช่วยให้โรคนี้ไม่ลุกลาม และช่วยให้คุณสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป
ข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล