โรคไตเกิดจากอะไร ไม่รับประทานของเค็มมีสิทธิเสี่ยงหรือไม่
May 11, 2021อาการของโรคไต มีอะไรบ้าง?
ทุกวันนี้มีโรคต่าง ๆ รอบตัวที่กำลังจ้องเล่นงานคุณอยู่ โดยตัวเราเองก็ไม่สามารถกำหนดโชคชะตาชีวิตได้เลยว่า วันข้างหน้าเราจะเป็นโรคอะไร หรือมีปัจจัยใดที่เรากำลังทำอยู่แล้วส่งผลต่ออนาคตได้บ้าง ดังนั้นแนวทางการป้องกันโรคร้ายที่ดีที่สุดคงต้องเริ่มมาตั้งแต่ตัวเรา ทั้งในเรื่องของการพักผ่อน การออกกำลังกาย ไปจนถึงการรับประทานอาหาร
โดยหลาย ๆ คนมักคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า ‘กินเค็มระวังเป็นไต’ ซึ่งคำพูดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นความจริงทั้งสิ้น ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มจัดเป็นเวลานานมักเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันโรคไตกลับไม่ได้ทำร้ายแค่กับผู้ที่ชอบกินเค็มเท่านั้น แต่ปัจจัยอื่น ๆ ก็อาจส่งผลต่อการเป็นโรคไตได้เช่นกัน

โรคไตเกิดจากอะไร ไม่รับประทานของเค็มมีสิทธิเสี่ยงหรือไม่
ไตทำหน้าที่อะไร?
ในส่วนของไตเป็นอวัยวะอย่างหนึ่งในร่างกาย ที่ทำหน้าที่กำจัดของเสีย ควบคุมความเป็นกรด – ด่างในกระแสเลือด ควบคุมปริมาณน้ำในร่างกาย ตลอดจนควบคุมความสมดุลของเกลือแร่ ดังนั้นหากไตเริ่มทำงานผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะเลือดจางและขาดวิตามิน โดยโรคที่เกิดจากไตมีด้วยกันหลายโรค ได้แก่ ไตอักเสบ, ไตเรื้อรัง, ไตวาย, นิ่วในไต และกรวยไตอักเสบ
ซึ่งจริง ๆ แล้วผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไตนั้นไม่ได้มีแค่กลุ่มคนที่ชอบรับประทานอาหารเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมสูงเพียงอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วมีอีกหลายสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ อาทิ พันธุกรรม, โรคประจำตัวที่ส่งผลกระทบต่อไต, ผู้สูงอายุ, การดื่มน้ำในปริมาณที่น้อย, ความเครียด เป็นต้น

โรคไตเกิดจากอะไร ไม่รับประทานของเค็มมีสิทธิเสี่ยงหรือไม่
สัญญาณอาการโรคไต
ไตเป็นอวัยวะที่ไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาในสภาพที่สมบูรณ์ได้ ดังนั้นการเกิดภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไตจึงถือเป็นเรื่องที่อันตราย โดยสัญญาณของผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่ในระยะเริ่มต้นจะไม่ปรากฏสัญญาณใด ๆ ให้เห็น แต่จะเห็นได้ชัดในช่วงระยะท้าย ๆ ที่ไตได้รับความเสียหายไปแล้ว หรือบางคนอาจได้รับผลกระทบสูงสุดจนถึงขั้นไตวาย และเสียชีวิต ซึ่งผู้ป่วยที่แสดงอาการมักมี ดังนี้
- อ่อนเพลียง่าย ไม่มีแรง
- ปัสสาวะผิดปกติไปจากเดิม เช่น สีผิดปกติ กลิ่นผิดปกติ ฯลฯ
- วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
- ไม่อยากรับประทานอาหาร หรือเบื่ออาหาร
- ปวดหลังและปวดเอว
- ตัวบวมจากน้ำและเกลือในร่างกายที่มีปริมาณมากเกินไป

โรคไตเกิดจากอะไร ไม่รับประทานของเค็มมีสิทธิเสี่ยงหรือไม่
โรคไตรักษาได้หรือไม่?
ในส่วนของการรักษาโรคไต จะแบ่งการรักษาออกเป็น 2 ประเภท คือ การรักษาตามอาการ และการรักษาด้วยวิธีการบำบัดทดแทนไต
- การรักษาตามอาการ: แพทย์จะให้ยามารับประทาน พร้อมกับผู้ป่วยเองจะต้องควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม ลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง อาทิ การสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการรับประทานยาบางประเภท
- รักษาด้วยวิธีการบำบัดทดแทนไต: สำหรับวิธีนี้จะเป็นการรักษาผู้ป่วยไตเรื้อรัง เพื่อช่วยในการขจัดของเสียแทนไตที่เสียไป แบ่งได้ 3 วิธี ได้แก่ การฟอกเลือด (ทำความสะอาดใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง 2-3 ครั้ง/สัปดาห์), การฟอกไตผ่านช่องท้อง (ฟอกวันละ 4 รอบ) และการปลูกถ่ายไต (นำไตของผู้บริจาคมาใส่เชิงกรานของผู้ป่วย)
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเพชรเวช